Monday, October 2, 2017

A Holistic View of Catholic Identity of Catholic Education: System Approach


A Holistic View of Catholic Identity of Catholic Education: System Approach


อัตลักษณ์การศึกษาคาทอลิกสามารถอธิบายให้เข้าใจได้ชัดเจนด้วยความคิดเชิงระบบ ซึ่งมีองค์ประกอบสำคัญได้แก่ 1. ตัวป้อน: ปรัชญา เป้าหมาย หลักการ คุณลักษณะ 2. กระบวนการ: ครู นักเรียน พระหรรษาทน 3. ผลลัพธ์: ลักษณะพึงประสงค์ บรรยากาศโรงเรียน

1. Input

ปรัชญาการศึกษาคาทอลิก

นักบุญโทมัสผู้ที่สมเด็จพระสันตะปาปาเลโอที่ 13 ในปี 1880 ทรงประกาศให้เป็นองค์อุปถัมภ์ของสถาบันการศึกษาคาทอลิก ได้กล่าวถึงจุดมุ่งหมายของการศึกษาคาทอลิกว่า การศึกษาคือการบริรูปหล่อหลอมมนุษย์ใหม่จนกระทั่งเขาเปี่ยมด้วยคุณธรรม(Education is the forming of ‘new man’ up to the point of virtue.)

การศึกษาที่แท้มุ่งสู่การบริรูปหล่อหลอมตัวบุคคลมนุษย์ในการแสวงหาจุดหมายปลายทางสุดท้ายของตนและประโยชน์สุขของสังคม (GE 1)

การศึกษาคาทอลิกเป็นการศึกษาเพื่อตัวบุคคลมนุษย์ และการศึกษาของตัวบุคคลมนุษย์ การศึกษาคาทอลิกมีจุดศูนย์กลางอยู่ที่การส่งเสริมตัวบุคคลของมนุษย์แต่ละคน พร้อมกับความต้องการจำเป็นทั้งด้านวัตถุและด้านจิตวิญญานของพวกเขา” (RD 9) 

ความซับซ้อนของโลกปัจจุบันทำให้มีความจำเป็นที่จะต้องตระหนักมากขึ้นถึงแก่นแท้ของการจัดการศึกษา กระแสเรียกที่แท้จริงของการจัดการศึกษาคาทอลิกคือการให้การบริรูปหล่อหลอมเชิงบูรณภาพของตัวบุคคลมนุษย์ ด้วยกิจกรรมการศึกษาที่มุ่งสร้างการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต” (ET3)

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิก

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิกคือเรื่องของการบริรูปหล่อหลอมแบบองค์รวมของมนุษย์ (the cause of the total formation of man) (CS 15)

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิกสำหรับนักเรียนทุกคน 

การศึกษาคาทอลิกมีเป้าหมายไม่เพียงเฉพาะเพื่อพัฒนาสมรรถนะสติปัญญาอย่างเอาใจใส่เท่านั้น แต่รวมทั้งเพื่อบริรูปหล่อหลอมความสามารถในการวินิจฉัยอย่างถูกต้อง เพื่อถ่ายทอดมรดกทางวัฒนธรรมไปสู่ชนรุ่นต่อ ไป เพื่อเสริมสร้างคุณค่า และเพื่อเตรียมสู่การประกอบอาชีพการงาน (GE 5)

เป้าหมายการศึกษาคาทอลิกสำหรับนักเรียนคาทอลิก 

การศึกษาคาทอลิกมีเป้าหมายหลักเพื่อให้ผู้ได้รับศีลล้างบาปมีความตระหนักมากยิ่งขึ้นถึงพระคุณแห่งความเชื่อที่พวกเขาได้รับ และพวกเขาจะได้เรียนรู้ถึงการนมัสการพระเจ้าพระบิดาในองค์พระจิตและในความจริง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในวัตรปฏิบัติของพิธีกรรม และการดำเนินชีวิตของตนตามแบบอย่างของมนุษย์ใหม่ที่ถูกสร้างในความชอบธรรมและความศักดิ์สิทธ์แห่งความจริง (เทียบ อฟ 4:22-24) อีกทั้งพวกเขาจะได้รับการพัฒนาให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ในองค์พระคริสตเจ้า (เทียบ อฟ 4:13) และยังเรียนรู้เกี่ยวกับการมีส่วนร่วมในการบริรูปหล่อหลอมโลกตามแบบคริสต์ ซึ่งเกิดขึ้นเมื่อพวกเขาใช้สมรรถภาพตามธรรมชาติเพื่อสร้างประโยชน์สุขของสังคม (GE 2)

หลักการการศึกษาคาทอลิก

หลักการการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต

ภารกิจของโรงเรียนคาทอลิกโดยพื้นฐานแล้วคือการบูรณาการวัฒนธรรมกับความเชื่อ และการบูรณา การความเชื่อกับชีวิต: อย่างแรกสำเร็จเมื่อบูรณาการความรู้ทุกแง่ทุกมุมของรายวิชาที่สอนในแสงแห่งพระวรสาร อย่างหลังสำเร็จเมื่อมีการเจริญชีวิตตามคุณธรรมที่มีลักษณะเฉพาะของคริสตธรรม” (CS 37, ET 24) “โรงเรียนถือว่าความรู้ของมนุษย์เป็นความจริงที่ต้องค้นหา ลักษณะคาทอลิกคือ ในการสอนวิชาต่างๆ ผู้สอนตระหนักและมุ่งมั่นแสวงหาความจริง” (CS 42) กระนั้นก็ดีมรดกทางวัฒนธรรมของมนุษย์ยังครอบคลุมถึงคุณค่าอื่นๆ นอกเหนือจากคุณค่าในบริบทของความจริง เมื่อครูช่วยให้นักเรียนเข้าใจ เห็นค่า และซึมซับคุณค่าต่างๆ เหล่านี้  เขากำลังนำนักเรียนไปสู่ความจริงนิรันดร” (CS 42)  ดังนั้น การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต ก็คือการบูรณาการคุณค่าพระวรสารในการจัดการเรียนการสอน   และการจัดการเรียนการสอนจะต้องช่วยให้นักเรียนไตร่ตรองจนเห็นค่าคุณค่าพระวรสาร แล้วนำคุณค่าพระวรสารไปปฏิบัติในชีวิตนั่นเอง
จุดมุ่งหมายของการศึกษาคือการประสิทธิประสาทความรู้และการถ่ายทอดคุณค่า ความรู้ถือเป็นคุณค่าประการหนึ่ง กล่าวคือ คุณค่าของความจริง แต่ในมรดกทางวัฒนธรรมมนุษย์ ยังมีคุณค่าอื่นๆ อีกมากมายที่ต้องได้รับการถ่ายทอดโดยกระบวนการทางการศึกษา
ระดับชั้นของคุณค่าศึกษามี 3 ขั้น ได้แก่
1. เข้าใจ   เข้าใจลึกซึ้งจนถ่ายทอดได้
2. ยอมรับ ยอมรับต่อสาธารณะ
3. ปฎิบัติ  ปฎิบัติซ้ำจนเป็นวิถีชีวิต
ดังนั้น การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต เกิดขึ้นครบถ้วน เมื่อมีกระบวนการพัฒนาคุณค่าศึกษาถึงระดับชั้นสูงสุด กระบวนการดังกล่าวจึงเป็นการเจริญเติบโตในคุณธรรม 

หลักการการบูรณาการคุณค่าพระวรสาร

หลักการการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต เมื่อแปลงสู่ภาคปฏิบัติก็คือการบูรณาการคุณค่าพระวรสารในรายวิชาและในชีวิตโรงเรียนนักเรียนแต่ละคนจะต้องเป็นประจักษ์พยานของคุณค่าพระวรสารในชีวิตประจำวันของตน” (RD 103) ดังนั้นครูในโรงเรียนคาทอลิกจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องรู้ว่าคุณค่าพระวรสารคืออะไร คุณค่าพระวรสาร 30 ประการ เป็นผลของการวิเคราะห์คุณค่าพระวรสารที่เป็นแรงบันดาลใจของโรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยและทั่วโลก โดยพิจารณากับเอกสารของพระศาสนจักรและตัวบทหนังสือพระวรสาร การกำหนดคุณค่าพระวรสาร 30 ประการนี้เป็นประโยชน์ในการอ้างอิงเพื่อโรงเรียนคาทอลิกในประเทศไทยจะร่วมกันกำหนดหลักสูตรบูรณาการคุณค่าพระวรสาร  และเพื่อแบ่งปันตัวอย่างแผนการจัดการเรียนรู้ที่บูรณาการคุณค่าพระวรสารภายในกลุ่มโรงเรียน 

คุณค่าพระวรสารคืออะไร 

คุณค่าพระวรสารคือคุณค่าที่พระเยซูสั่งสอนและเจริญชีวิตเป็นแบบอย่างแก่ ดังที่มีบันทึกในพระคัมภีร์พระวรสารซึ่งแปลว่าข่าวดี อันหมายถึงข่าวดีแห่งความรอดพ้นของมนุษย์ และข่าวดีแห่งความรักของพระเจ้าผู้รักมนุษย์จนกระทั่งประทานพระบุตรของพระองค์มาบังเกิดเป็นมนุษย์เพื่อแสดงพระธรรมแก่มนุษย์ และทำการกอบกู้มนุษย์ให้พ้นจากทุกข์ด้วยอัศจรรย์ต่างๆ และทรงสิ้นพระชนม์บนไม้กางเขน
เพื่อไถ่กู้มนุษย์ให้รอดพ้นจากบาป แล้วทรงกลับคืนพระชนมชีพเพื่อบันดาลให้มนุษย์ได้รับชีวิตนิรันดร 


1. ความเชื่อ 
ความเชื่อหมายถึง ความเชื่อศรัทธาในพระเจ้า ความเชื่อในความเป็นจริงของจิตวิญญาณและในมิติทางศาสนาของชีวิต หากเรามีความเชื่อศรัทธา อัศจรรย์จะเกิดขึ้นในชีวิตของเรา 
2. ความจริง 
ชีวิตของเราเป็นการแสวงหาความจริง  ความจริงของโลก  ของชีวิต และของมนุษย์ พระองค์สอนเราว่า ความจริงทำให้เราเป็นไท บุคคลที่ไม่ซื่อตรงคือบุตรแห่งปีศาจผู้มีแต่ความเท็จ 
3. การไตร่ตรอง / ภาวนา 
พระเยซูสอนให้เรารู้คุณค่าของความสงบและการไตร่ตรอง เพื่อหาความหมายของสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิต การไตร่ตรองนำไปสู่การเข้าใจ ยอมรับ และปฏิบัติคุณค่าจนเกิดผลมากมาย พระเยซูภาวนาเมื่อประกอบภารกิจสำคัญ เมื่อมีการประจญ และเมื่อมีวิกฤติของชีวิต พระองค์สอนเราให้ภาวนาอยู่เสมอ
4. มโนธรรม / วิจารณญาณ / ความกล้าหาญเชิงศีลธรรม
พระเยซูสอนให้เรามีความกล้าหาญเด็ดเดี่ยวในการรักษาศีลธรรม มีมโนธรรมเที่ยงตรง มีวิจารณญาณแยกแยะชั่วดี รู้จักตัดสินใจเลือกทางแห่งความดีงาม และยึดมั่นในทางแห่งความดี แม้ในสถานการณ์ที่เราถูกคุกคาม
5. อิสรภาพ 
พระเยซูสอนว่า  “ความจริงทำให้เราเป็นอิสระ”     ซึ่งหมายถึงความเป็นอิสระจากการเป็นทาสของบาป 
เราปฏิบัติหน้าที่ของเราด้วยความเชื่อมั่น ด้วยความรัก มิใช่ด้วยความกลัว 
6. ความยินดี
ความยินดีเป็นผลของประสพการณ์การสัมผัสความรักของพระเจ้า พระเยซูสอนให้เรามีใจเบิกบานอยู่เสมอ เพราะชื่อของเราถูกจารึกไว้ในสวรรค์แล้ว ไม่มีสิ่งใดทำให้เราหวั่นไหว เพราะพระเจ้ารักเรา 
7. ความเคารพ / ศักดิ์ศรี 
มนุษย์ถูกสร้างตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า มนุษย์เป็นลูกของพระเจ้า ดังนั้น ชีวิตมนุษย์จึงมีความศักดิ์สิทธิ์ พระเยซูสอนให้เราเคารพศักดิ์ศรีของตนเอง และของกันและกัน เราแต่ละคนมีค่ามากในสายพระเนตรของพระเจ้า 
8. ความสุภาพถ่อมตน 
พระเยซูเชื้อเชิญให้เราเลียนแบบพระองค์ผู้มีใจอ่อนโยนและสุภาพ คำสอนหลักของพระองค์คือ ผู้ใดถ่อมตัวลง ผู้นั้นจะได้รับการยกย่องให้สูงขึ้น ผู้ใดมีใจสุภาพอ่อนโยนผู้นั้นย่อมเป็นสุข 
9. ความซื่อตรง 
พระเยซูคาดหวังให้เราเป็นมนุษย์ใหม่มนุษย์ที่ซื่อตรง ชอบธรรม ดำรงตนอยู่ในศีลธรรม ไม่หน้าซื่อใจคด ไม่เบียดเบียนผู้อื่น ผู้ซื่อตรงต้องเริ่มจากการซื่อสัตย์ในสิ่งเล็กน้อย ผู้ซื่อตรงจะเกิดผลมากมาย
10. ความเรียบง่าย / ความพอเพียง 
พระเยซูเจริญชีวิตที่เรียบง่าย คลุกคลีกับประชาชนคนสามัญ ทุกคนเข้าหาพระองค์ได้แม้แต่เด็กๆ พระองค์สอนเรามิให้กังวลใจในเครื่องแต่งกาย ในอาหารการกิน เพราะพระเจ้าดูแลชีวิตของเราทุกคน สุนัขจิ้งจอกยังมีโพรง และนกในอากาศยังมีรัง แต่พระองค์ไม่มีที่ที่จะวางศีรษะ
11. ความรัก
ความรักแท้สูงส่งกว่าความรักใคร่ ความรักไม่เห็นแก่ตัว ไม่หวังสิ่งตอบแทน มอบแก่ทุกคน ความรักเอาชนะอารมณ์ความรู้สึก จนสามารถรักแม้แต่อริ หลักปฏิบัติพื้นฐานของความรักคือ ปฏิบัติต่อผู้อื่นดังที่เราอยากให้ผู้อื่นปฏิบัติต่อเรา หลักปฏิบัติขั้นสูงคือ รักกันและกันเหมือนที่พระเจ้าทรงรักเรา
12. เมตตา 
พระองค์เมตตาต่อทุกคน คนเจ็บป่วย คนตกทุกข์ได้ยาก และคนด้อยโอกาส พระองค์ร่วมทุกข์กับคนที่มีความทุกข์ พระองค์สอนให้เราเป็นผู้เมตตาเหมือนพระบิดาทรงเป็นผู้เมตตา 
13. ความกตัญญูรู้คุณ
พระเยซูตรัสชมเชยผู้ที่ได้รับการรักษาจากโรคที่กลับมาขอบคุณพระองค์ พระเยซูขอบคุณพระเจ้าในทุกขณะ พระองค์สอนให้เรารู้จักกตัญญูรู้คุณต่อพระเจ้า  และต่อทุกคนที่มีบุญคุณต่อเรา
14. การงาน / หน้าที่ 
พระเยซูสอนให้เราเห็นคุณค่าของการทำงาน ผู้ที่ทำงานก็สมควรได้รับค่าตอบแทน พระองค์จะประทานรางวัลแก่ทุกคนตามการทำงานของแต่ละคน พระองค์ยังสอนว่าการทำงานและหน้าที่ของตนเป็นการถวายเกียรติแด่พระเจ้า เราทำงานเพื่ออาหารที่คงอยู่เป็นชีวิตนิรันดร์ 
15. การรับใช้ 
พระเยซูเสด็จมาในโลกเพื่อมารับใช้ มิใช่มาเพื่อได้รับการรับใช้ พระองค์สอนสานุศิษย์ว่าพระองค์ผู้เป็นพระเจ้ายังรับใช้พวกเขา ดังนั้นพวกเขาต้องรับใช้ผู้อื่นเช่นเดียวกัน ผู้ใหญ่กว่าจะต้องรับใช้ผู้น้อย
16. ความยุติธรรม 
พระเยซูสอนให้เราแสวงหาความยุติธรรมให้กับผู้อื่นก่อนให้กับตนเอง ความยุติธรรมเรียกร้องให้เราเปิดใจกว้างต่อความต้องการของผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้ที่ด้อยกว่าเรา
17. สันติ / การคืนดี 
พระเยซูมอบสันติของพระองค์แก่เรา สันติเป็นผลมาจากความยุติธรรม เราสามารถนำสันติสู่สังคมที่เราอยู่โดยมีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันและกัน มีใจที่ปล่อยวาง หลุดพ้นจากความว้าวุ่นใจ หลีกเลี่ยงความรุนแรงทุกชนิด การคืนดีเป็นผลจากการเคารพซึ่งกันและกัน และใจที่เปิดต่อการเสวนา
18. อภัย 
พระเยซูสอนให้ภาวนาว่าโปรดอภัยแก่ข้าพเจ้า เหมือนที่ข้าพเจ้าอภัยให้ผู้อื่นที่ทำผิดต่อข้าพเจ้าพระเยซูให้อภัยแก่ผู้ที่ตรึงพระองค์ อภัยไม่มีขอบเขตเหมือนที่พระเจ้าให้อภัยแก่เราอย่างไม่มีขอบเขต 
19. ความเป็นหนึ่ง / ความเป็นชุมชน
มนุษย์ทุกคนมีพระบิดาองค์เดียวกัน มนุษย์จึงต้องสร้างสังคมมนุษย์ให้น่าอยู่  มีความเป็นพี่เป็นน้องกัน 
มีสายใยยึดเหนี่ยวกันอย่างมั่นคง เราแสดงความเป็นเจ้าของ และมีส่วนร่วมในชีวิตของชุมชนที่เราอยู่ 
20. ความมหัศจรรย์ใจ / รักษ์ธรรมชาติ
พระเยซูสอนให้เรามองดูดวงดาวบนท้องฟ้า นกที่บินในอากาศ ดอกไม้ในทุ่งหญ้า แล้วมองเห็นความยิ่งใหญ่ของพระผู้สร้างธรรมชาติ มองเห็นความน่าพิศวงของธรรมชาติ ที่ถูกสร้างมาเพื่อให้มนุษย์เอาใจใส่ดูแล เราจึงต้องหวงแหนธรรมชาติ  อนุรักษ์สิ่งแวดล้อม  พิทักษ์โลกของเราให้อนุชนรุ่นหลัง
21. ความหวัง
ความหวังมีพื้นฐานอยู่บนคำสัญญาของพระเยซูว่า พระองค์มาเพื่อกอบกู้มนุษย์ทุกคนให้ได้ความรอดพ้นจากบาป และมีชีวิตนิรันดร์ ความหวังทำให้เรามีความอดทน พากเพียร และมั่นคงในความดี
คุณค่าแรก ความเชื่อ เป็นพื้นฐานของทุกคุณค่า คุณค่ากลุ่มที่ 2-9 เป็นหน้าที่ต่อพระเจ้าและต่อตนเอง คุณค่าที่ 11 ความรัก เป็นจุดมุ่งหมายของทุกคุณค่า คุณค่ากลุ่มที่ 12-20 เป็นหน้าที่ต่อผู้อื่นและต่อสิ่งสร้าง คุณค่าสุดท้าย ความหวัง เป็นความมั่นคงของทุกคุณค่า

โรงเรียนคาทอลิกจัดการศึกษาตามหลักคริสตธรรมเพื่อบริรูปหล่อหลอมมโนธรรมตามคุณธรรมพื้นฐานและถาวร คุณธรรมที่สำคัญคือ คุณธรรมอันเกี่ยวเนื่องกับพระเจ้า ได้แก่ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก โดยเฉพาะอย่างยิ่งความรัก ซึ่งเป็นจิตตารมณ์ที่บันดาลชีวิตและแปรสภาพมนุษย์ผู้เปี่ยมคุณธรรมให้เป็นมนุษย์ตามแบบพระคริสต์” (CS 47)

ลักษณะสำคัญห้าประการของโรงเรียนคาทอลิก

พระอัครสังฆราช ไมเคิ้ล มิลเลอร์ อดีตเลขาธิการพระสมณกระทรวงการศึกษาคาทอลิก ได้นำเสนอลักษณะสำคัญห้าประการของโรงเรียนคาทอลิกดังปรากฎในบทที่ 3 ของหนังสือของท่านชื่อว่าคำสั่งสอนของพระศาสนจักรเกี่ยวกับโรงเรียนคาทอลิกท่านย้ำว่าพระศาสนจักรได้กำหนดลักษณะสำคัญของโรงเรียนคาทอลิก อันได้แก่ โรงเรียนคาทอลิกต้องได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์เหนือธรรมชาติ มีพื้นฐานอยู่บนมนุษยวิทยาคริสต์ มีจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งและความเป็นชุมชน ซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร และเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร 








คำสั่งสอนของสมเด็จพระสันตะปาปาและเอกสารต่างๆ ของพระศาสนจักรเน้นย้ำซ้ำๆ กันว่า คุณลักษณะบางประการจำต้องมีในโรงเรียนจึงจะถือว่าเป็นโรงเรียนคาทอลิกอย่างแท้จริง ดังที่ในบทแสดงความเชื่อ พระศาสนจักรประกาศถึงลักษณะสำคัญของพระศาสนจักร อันได้แก่ หนึ่งเดียว ศักดิ์สิทธิ์ สากล และสืบเนื่องจากอัครสาวก   ฉันใดฉันนั้น พระศาสนจักรก็กำหนดลักษณะสำคัญของโรงเรียนคาทอลิก  อันได้แก่ โรงเรียนคาทอลิกต้องได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์เหนือธรรมชาติ มีพื้นฐานอยู่บนมนุษยวิทยาคริสต์  มีจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งและความเป็นชุมชน ซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร และเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร เกณฑ์มาตรฐานเหล่านี้ให้คำตอบต่อคำถามวิกฤตที่ว่า: โรงเรียนนี้เป็นโรงเรียนคาทอลิกตามความคิดของพระศาสนจักรหรือไม่? ตรงอัตลักษณ์คาทอลิกนี่เอง ที่โรงเรียนยึดโยงกับความเป็นต้นกำเนิดซึ่งทำให้มันเป็นเครื่องมืออันถ่องแท้ของพันธกิจไถ่กู้ของพระศาสนจักร ให้เราสำรวจดูลักษณะแต่ละอย่างที่ก่อเกิดอัตลักษณ์คาทอลิก

1. ได้รับแรงบันดาลใจจากวิสัยทัศน์เหนือธรรมชาติ

พระศาสนจักรมองการศึกษาเป็นกระบวนการที่บริรูปหล่อหลอมเด็กทั้งครบ และมุ่งที่จะทำให้เด็กทอดสายตาจ้องมองสวรรค์ โดยตระหนักถึงจุดหมายปลายทางโลกุตระของมนุษย์ จุดประสงค์เฉพาะของการศึกษาคาทอลิกคือการบริรูปหล่อหลอมเด็กๆ ให้เป็นพลเมืองที่ดีของโลกนี้ ให้รักพระเจ้าและเพื่อนมนุษย์ และทำให้สังคมมั่งคั่งด้วยเชื้อแป้งแห่งพระวรสาร นอกจากนี้แล้ว ยังมุ่งทำให้เด็กๆ เป็นพลเมืองแห่งโลกที่จะมาถึง โดยทำให้จุดหมายชีวิตแห่งการเป็นผู้ศักดิ์สิทธิ์ได้กลับเป็นความจริง

สมเด็จพระสันตะปาปายอหน์ พอล ที่สอง ได้ทรงนำเสนอความท้าทายเร่งด่วนของการกำหนดเป้าหมายการศึกษาคาทอลิกอย่างชัดเจน และการประยุกต์ใช้วิธีที่เหมาะสม นี่คือความท้าทายของการทำความเข้าใจอย่างถ่องแท้ต่อการจัดการศึกษา การประเมินผลเนื้อหาของมันอย่างเหมาะสม และการถ่ายทอดความจริงที่ครบถ้วนเกี่ยวกับตัวบุคคลมนุษย์ ซึ่งได้ถูกสร้างขึ้นตามพระฉายาลักษณ์ของพระเจ้า และถูกเรียกให้เจริญชีวิตในพระคริสตเจ้า โดยทางองค์พระจิตเจ้า

ในปัจจุบัน มีความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะเน้นย้ำความสำคัญของศักดิ์ศรีที่มิอาจแยกออกได้ของตัวบุคคลมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มิติทางจิตวิญญานของเขา แต่น่าเสียดายที่ผู้คนจำนวนมากทั้งในรัฐบาล ภาคธุรกิจ สื่อสารมวลชน และแม้กระทั่งวงการการศึกษา ต่างก็รับรู้การจัดการศึกษาว่าเป็นเพียงเครื่องมือในการสั่งสมข้อมูลที่จะช่วยเพิ่มโอกาสที่จะประสบความสำเร็จทางโลก และมาตรฐานการดำรงชีวิตที่สะดวกสบายมากขึ้น วิสัยทัศน์อันเจือจางเช่นนี้ไม่ใช่วิสัยทัศน์คาทอลิก  

2. มีพื้นฐานอยู่บนมนุษยวิทยาคริสต์  

เอกสารของพระศาสนจักรสอนว่า โรงเรียนที่สมกับกับชื่อคาทอลิกจะต้องมีรากฐานอยู่บนพระคริสต์ พระผู้ไถ่ ผู้ร่วมเป็นหนึ่งเดียวกับนักเรียนแต่ละคน อาศัยการรับเอากายเป็นมนุษย์ของพระองค์ พระคริสต์มิได้เป็นสิ่งเพิ่มเติมในปรัชญาการศึกษาคาทอลิก แต่เป็นจุดศูนย์กลางของกิจกรรมการศึกษา หลักการแห่งพระวรสารของพระองค์เป็นแรงบันดาลใจ และเป็นแนวทางการจัดการศึกษาทั้งมวลของโรงเรียน ในทุกมิติของกิจกรรมและชีวิตโรงเรียน 

ปรัชญาการศึกษาของโรงเรียนจำต้องสร้างอยู่บนความเข้าใจที่ถูกต้องว่าบุคคลมนุษย์เป็นใคร มนุษยวิทยานี้ครอบคลุมถึงสิทธิของมนุษย์ ในขณะเดียวกันก็มองตัวบุคคลมนุษย์ในฐานะที่มีศักดิ์ศรีของการเป็นบุตรของพระเจ้า

3. มีจิตตารมณ์แห่งความเป็นหนึ่งและความเป็นชุมชน  

พระศาสนจักรเน้นย้ำถึงมิติของความเป็นชุมชนของโรงเรียน มิตินี้มีรากอยู่ในธรรมชาติเชิงสังคมของตัวบุคคลมนุษย์และในความเป็นจริงของพระศาสนจักรในฐานะบ้านและโรงเรียนแห่งการรวมเป็นหนึ่งการที่โรงเรียนคาทอลิกเป็นชุมชนการศึกษานี้นับเป็นพัฒนาการที่มีค่าที่สุดอันหนึ่งของโรงเรียนร่วมสมัย

พระศาสนจักรเน้นความเป็นหนึ่งใน 4 ด้าน: การทำงานเป็นทีมของผู้ร่วมงานทุกฝ่าย การร่วมมือระหว่างโรงเรียนกับพระศาสนจักรท้องถิ่น ปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักเรียนกับครู และสิ่งแวดล้อมทางกายภาพ

4. ซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร 

ความเป็นคาทอลิกจะต้องไม่ปรากฎเพียงในวิชาคำสอน หรือวิชาคริสตศาสนา หรือในกิจกรรมอภิบาลเท่านั้น แต่จะต้องซึมซาบอยู่ในหลักสูตรทั้งหมด เอกสารพระศาสนจักรกล่าวถึงการศึกษาบูรณภาพ ซึ่งเป็นการศึกษาที่ตอบสนองต่อความต้องการทั้งหมดของตัวบุคคลมนุษย์

4.1 การแสวงหาปรีชาญาณและสัจธรรม
ในยุคสารสนเทศท่วมท้น โรงเรียนคาทอลิกต้องให้ความสนใจเป็นพิเศษในสมดุลย์เปราะบางระหว่างประสบการณ์กับความเข้าใจ ในคำของที เอส เอลีออท เราไม่อยากได้ยินนักเรียนกล่าวว่าเรามีประสบการณ์แต่ขาดความเข้าใจความท้าทายที่ใหญ่ที่สุดในสังคมอบายภูมิของทุกวันนี้ คือการพลิกฟื้นความมั่นใจว่ามนุษย์สามารถเข้าถึงความเป็นจริง และในการเข้าถึงความเป็นจริง มนุษย์สามารถรู้หน้าที่ของตนต่อพระเจ้า ต่อตนเอง และต่อเพื่อนมนุษย์ 
4.2 วัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต
จากธรรมชาติของโรงเรียนคาทอลิกเอง เราพบองค์ประกอบที่สำคัญที่สุดของกิจกรรมการศึกษา กล่าวคือ การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต ความพยายามที่จะถักทอเหตุผลกับความเชื่อนับเป็นหัวใจของวิชาแต่ละรายวิชา สิ่งนี้ก่อให้เกิดเอกภาพและความร่วมมือ ทำให้สิ่งที่เรียนรู้ในโรงเรียนเบ่งบานด้วยวิสัยทัศน์คริสต์ต่อโลก ต่อชีวิต ต่อวัฒนธรรม และต่อประวัติศาสตร์

5. เป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร

ตัวบ่งชี้สุดท้ายของอัตลักษณ์คาทอลิกคือการเป็นประจักษ์พยานชีวิตของครูและผู้บริหาร พวกเขามีหน้าที่สำคัญที่จะสร้างบรรยากาศโรงเรียนคาทอลิกทั้งโดยส่วนตัวและโดยหมู่คณะ เอกสารพระศาสนจักรจึงเน้นย้ำถึงกระแสเรียกของครูและการร่วมส่วนในพันธกิจการประกาศพระวรสาร

การจ้างงานผู้ร่วมงานที่มีจริยธรรมสอดคล้องกับพระวรสารจึงเป็นเรื่องสำคัญที่สุดในการรักษาและส่งเสริมอัตลักษณ์คาทอลิก เหตุผลที่ความห่วงใยในการเลือกบุคลากรครูเป็นเหตผลที่ตรงไปตรงมา กล่าวคือ การศึกษาคาทอลิกได้รับการตอกย้ำโดยมรณะสักขีที่เป็นสักขีพยานแห่งพระวรสาร

สักขีพยานชีวิตที่โปร่งใสมีความสำคัญเช่นเดียวกันกับการมีโลกทัศน์คริสต์ในหลักสูตร นักเรียนซึมซับจากตัวอย่างของผู้อบรมมากกว่าจากเทคนิควิธีการสอนแบบมืออาชีพของเขา โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเรื่องคุณธรรมคริสต์ นักเรียนคาดหวังให้ผู้อบรมเป็นบุคคลต้นแบบในการเจริญชีวิตเป็นพยานถึงความงดงามของคุณค่าพระวรสาร


2. Process  

การบริรูปหล่อหลอมบุคคลแบบคริสต์

กระบวนการบริรูปหล่อหลอมบุคคลเป็นผลของการทำงานร่วมกันระหว่างการทำงานอย่างเชี่ยวชาญของครูด้วยใจรัก ความร่วมมืออย่างอิสระของนักเรียน และความช่วยเหลือของพระหรรษทาน (RD 107) โรงเรียนจำต้องตระหนักถึงการให้ความสำคัญและการเอื้ออำนวยต่อการทำงานร่วมกันของทั้ง 3 องค์ประกอบ ทั้งในระนาบของการทำงานของครู การร่วมมือของนักเรียน และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ระนาบของความช่วยเหลือของพระหรรษทานจากเบื้องบน อันเป็นอัตลักษณ์ของกระบวนการบริรูปหล่อหลอมคาทอลิก คำว่าพระหรรษทานคือพระพรของพระที่ประทานให้อย่างหรรษาด้วยรักและอิสระเป็นพระพรที่ประทานให้โดยเสน่หา และประทานให้เปล่าๆ ระนาบของพระหรรษทานจึงสะท้อนและบูรณาการระนาบอีกสองระนาบ นอกจากนี้ ผลลัพธ์ของกระบวนการนี้ยังออกมาให้รูปของบรรยากาศโรงเรียนที่เปี่ยมด้วยรัก-อิสระ-พระหรรษทานเช่นกัน
            
ดังที่กล่าวไว้ข้างต้นว่า โรงเรียนมุ่งสู่การพัฒนาปริบุคคล การบริรูปหล่อหลอมบุคคลจึงเป็นเป้าหมาย
สูงสุดของการศึกษา การบริรูปหล่อหลอมบุคคลเกิดขึ้นจริงเมื่อโรงเรียนตระหนักและดำเนินการดังนี้:
  • การบริรูปหล่อหลอมเป็นกระบวนการของการเจริญเติบโตซึ่งมุ่งสู่เป้าหมายอุดมคติ ที่ข้ามพ้นขีดจำกัดของคุณค่ามนุษย์แบบโลกียวิสัย แต่กลมกลืนกับคุณค่าโลกุตระ (RD 98)
  • การบริรูปหล่อหลอมมุ่งที่พัฒนาการอย่างเป็นลำดับของแต่ละสมรรถนะของนักเรียนแต่ละคน ทำให้เขาบรรลุการบริรูปหล่อหลอมเชิงบูรณภาพในบริบทที่ครอบคลุมมิติทางศาสนา และตระหนักถึงความช่วยเหลือของพระหรรษทาน ทั้งนี้จำเป็นต้องอาศัยการรวมพลังทุ่มเทของครูทุกๆ คน (RD 99)
  • กระบวนการบริรูปหล่อหลอมเน้นการตั้งคำถามอย่างสม่ำเสมอว่า อะไร” “อย่างไร” “ทำไมต่อความจริงที่เรียน จากนั้นจึงชี้ให้เห็นและเจาะลึกถึงผลลัพธ์ที่เป็นวิถีบวกของการตรวจสอบความจริงนี้” (RD 108)
  • โรงเรียนต้องให้ความสำคัญต่อบรรยากาศโรงเรียน อันเป็นมวลประสบการณ์ของปฏิสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ที่จะต้องส่งผลกระทบเชิงบวกต่อกระบวนการบริรูปหล่อหลอมของโรงเรียน (RD 24)

3. Output

คุณลักษณะพึงประสงค์ของผู้เรียน

จากการวิเคราะห์เอกสารพระศาสนจักรเกี่ยวกับการศึกษาทั้ง 7 ฉบับ พบว่าคุณลักษณะที่เป็นอัตลักษณ์ของผู้สำเร็จการศึกษาจากสถาบันการศึกษาคาทอลิกได้แก่:
1. การบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต
2. ความตระหนักต่อโลกุตระ ความอ่อนไหวต่อมิติทางศาสนา
3. อิสระชน
4. มโนธรรม วิจารณญาณ และคุณค่า
5. ความรัก มิตรภาพ
6. ความใส่ใจ การรับใช้ ความตระหนักทางสังคม การอุทิศตน
7. วัฒนธรรมแห่งสันติ การดำรงอยู่ร่วมกัน ความสัมพันธ์
8. พระคริสต์องค์ต้นแบบ
9. ความรักศรัทธาต่อพระแม่มารีย์
(ดูลักษณะเฉพาะของผู้ได้รับการศึกษาอบรมในสถาบันการศึกษาคาทอลิก”, วารสารรายปี ปีที่ 39 ฉบับเดือนสิงหาคม 2551-กรกฎาคม 2552 หน้า 135-143, 2552, สภาการศึกษาคาทอลิก)

บรรยากาศโรงเรียน
            
บรรยากาศโรงเรียนมิได้อยู่ที่บรรยากาศภายนอกเท่านั้น แต่อยู่ที่บรรยากาศด้านในเป็นประการสำคัญ ศาสตร์การบริหารองค์กรมองบรรยากาศองค์กรในแง่ที่เป็นความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลากรในองค์กร ดังนั้นองค์ประกอบต่อไปนี้เป็นลักษณะที่สำคัญของความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล (RD 103-111)

  • ทุกคนตระหนักและเห็นพ้องในเป้าหมายทางการศึกษา และให้ความร่วมมือในการทำให้บรรลุผล
  • นักเรียนแต่ละคนได้รับการท้าทายให้ออกแรงพยายามที่จะบรรลุถึงระดับสูงสุดของการบริรูปหล่อหลอมบุคคล
  • มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของผู้ปกครอง วัด และชุมชน
  • ความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล มีรากฐานบนความรักและอิสรภาพ
  • ครูรักนักเรียน และแสดงให้เห็นถึงความรักนี้เมื่อมีปฏิสัมพันธ์กับพวกเขา และนักเรียนสนองตอบด้วยความรัก
  • ครูสวดภาวนาให้นักเรียนแต่ละคน และนักเรียนเรียนรู้ที่จะสวดภาวนาให้ครู
  • บทบาทที่เป็นอัตลักษณ์ของโรงเรียนคือการสร้างชุมชนการศึกษาที่มีบรรยากาศพิเศษ อันเปี่ยมด้วยจิตตารมณ์แห่งความรักและอิสรภาพ

No comments:

Post a Comment