A Model of Catholic Education
Fr. Joseph Charan Thongpiyaphoom
Spiritual Director, Catholic Education Council, Thailand
โมเดลอันหนึ่งของการศึกษาคาทอลิกที่นำเสนอนี้นำแนวคิดของ “การศึกษาแบบองค์รวม” กับอัตลักษณ์คาทอลิก โดยเฉพาะอย่างยิ่ง “ลักษณะสำคัญห้าประการของโรงเรียนคาทอลิก” มาบูรณาการกันเป็นแนวคิดที่ว่า การศึกษาคาทอลิกคือ “การศึกษาฐานคุณค่าที่มุ่งคุณธรรมโดยเน้นการไตร่ตรองและการแปรสภาพบุคคล” (The Reflective, Transformative, Values-based and Virtue-oriented Education)
Reflective, Transformative, Values-based, Virtue-oriented Education
การถ่ายทอดคุณค่าพระวรสารมีความสำคัญอย่างยิ่งในการจัดการศึกษาคาทอลิก กล่าวโดยสรุป การศึกษาเป็น Reflective, Transformative, Values-based and Virtue-oriented Education การศึกษาที่แท้จริงเป็นการศึกษาซึ่งมีพื้นฐานบนคุณค่า (Values-based) มีจุดมุ่งหมายสูงสุดอยู่ที่การปลูกฝังคุณธรรม (Virtue-oriented) มีลักษณะ Reflective เพราะการศึกษาที่แท้จริงใช้การไตร่ตรองในกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาทักษะการคิดจนถึงระดับการคิดขั้นสูง และใช้การไตร่ตรองเพื่อให้นักเรียนไม่เพียงได้รับความรู้เท่านั้น แต่ได้รับคุณค่าด้วย และมีลักษณะ Transformative เพราะการศึกษาที่แท้จริงมุ่งเน้นให้ชีวิตของนักเรียนได้รับการแปรสภาพโดยอาศัยคุณค่าที่ตนยอมรับ
1. การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรอง (Reflective Education)
การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรองคืออะไร
การเรียนรู้แบบไตร่ตรอง คือวิธีจัดการศึกษาที่ทำให้ผู้เรียนไตร่ตรองประสบการณ์การเรียนรู้ของตนเอง นี่เป็นพัฒนาการของความคิดรวบยอดของการเรียนรู้เชิงประสบการณ์ที่นำเสนอโดย จอห์น ดูอี ในหนังสือ “How we think : a restatement of the relation of reflective thinking to the educative process” (1933)
โดนัลด์ สคอน ใน The reflective practitioner - how professionals think in action (1983) ได้นำเสนอความคิดเรื่อง reflection-in-action and reflection-on-action ว่า reflection-in-action เป็นการพินิจดูประสบการณ์ เชื่อมโยงกับความรู้สึก และพิจารณาทฤษฎีที่ใช้ เป็นการสร้างความเข้าใจใหม่ๆ เพื่อหาความหมายของการกระทำของตนในสถานการณ์ที่กำลังอุบัติขึ้น ส่วน reflection-on-action เป็นการไตร่ตรองภายหลังจากประสบการณ์ เป็นการหาเหตุผลว่าทำไมเรากระทำเช่นนั้น อะไรเกิดขึ้นภายในกลุ่ม ฯลฯ เป็นการตั้งคำถาม และสร้างความคิดเกี่ยวการกระทำของเรา
เดวิด คอล์บ สร้างโมเดล Learning Style Inventory โมเดลนี้สร้างจากอนุกรมต่อเนื่อง 2 อัน ได้แก่ 1. การทดลองปฏิบัติจริง - การสังเกตอย่างไตร่ตรอง (Active experimentation - Reflective observation) 2. การสรุปเป็นแนวคิดนามธรรม - การมีประสบการณ์รูปธรรม (Abstract conceptualization - Concrete experience)
ผลลัพธ์ของโมเดลนี้คือประเภทผู้เรียน 4 ชนิด ได้แก่ 1. แบบเอกนัย converger (การทดลองปฏิบัติจริง/การสรุปเป็นแนวคิดนามธรรม) 2. แบบปรับตัว accommodator (การทดลองปฏิบัติจริง/การมีประสบการณ์รูปธรรม) 3. แบบซึมซับ assimilator (การสังเกตอย่างไตร่ตรอง/การสรุปเป็นแนวคิดนามธรรม) 4. แบบอเนกนัย diverger (การสังเกตอย่างไตร่ตรอง/การมีประสบการณ์รูปธรรม)
การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรองในเอกสารพระศาสนจักร
เอกสารพระศาสนจักรเน้นย้ำความสำคัญอันขาดเสียมิได้ของการไตร่ตรอง
“เยาวชนบางคนกำลังแสวงหาความเข้าใจในศาสนาของตนให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้น เมื่อพวกเขาพยายามไตร่ตรองความหมายที่แท้จริงของชีวิตพวกเขาก็จะค้นพบคำตอบต่อคำถามของตนในพระวรสาร” (RD 18)
“รูปแบบการศึกษาต้องแปลออกมาเป็นวิธีการศึกษาที่ฝึกให้ใช้การไตร่ตรองและวิจารณญาณ สิ่งนี้ต้องใช้รูปแบบกลวิธีในการปลูกฝังในตัวบุคคลให้มีชีวิตภายในซึ่งเป็นพื้นที่เพื่อรับฟังเสียงพระเจ้า ขัดเกลาสำนึกของความศักดิ์สิทธิ์ และติดตามคุณค่าที่ตนเลือก” (CP 53)
“โรงเรียนคาทอลิกมักจะใส่ใจประเด็นเกี่ยวกับวิธีการสอนต่างๆ ศาสตร์เกี่ยวกับการศึกษาต้องอิงอยู่กับปรัชญาและอุดมการณ์ที่แตกต่างหลากหลาย ในการนี้ เราจำเป็นจะต้องไตร่ตรอง วินิจฉัย และตัดสินใจเลือก” (RD 62)
2. การศึกษาแบบแปรสภาพ (Transformative Education)
การศึกษาแบบแปรสภาพคืออะไร
แจ๊ค เมซีโรว์ (1923 - 2014) นักการศึกษาคนสำคัญของวงการการศึกษาผู้ใหญ่ อธิบายว่า “การเรียนรู้แบบแปรสภาพคือกระบวนการที่ใช้การแปลความหมายก่อนหน้า เพื่อสร้างการแปลความหมายใหม่ในการให้ความหมายกับประสบการณ์ของตน ทั้งนี้โดยมีจุดมุ่งหมายเพื่อใช้เป็นแนวทางสำหรับการ กระทำในอนาคต”
การเรียนรู้มี 3 ประเภท ได้แก่
- Instrumental learning เป็นการเรียนรู้แบบเป็นเครื่องมือคือ การแสวงหาทักษะและความรู้ การทำชิ้นงานอย่างเชี่ยวชาญ การแก้ปัญหา การจัดการสภาพแวดล้อม
- Communicative learning เป็นการเรียนรู้ที่ทำความเข้าใจความหมายสิ่งที่ผู้อื่นสื่อสารเกี่ยวกับ คุณค่า อุดมการณ์ ความรู้สึก การตัดสินใจทางศีลธรรม 3.
- Transformative learning เป็นการแปรมุมมอง ปรับกระบวนทัศน์ โดยที่เราตรวจสอบการแปลความและสมมุติฐานก่อนหน้าอย่างพินิจพิเคราะห์ เพื่อสร้างความหมายใหม่
การเรียนรู้แบบแปรสภาพมี 3 ขั้น
- การไตร่ตรองสมมุติฐานของตนอย่างพินิจพิเคราะห์
- เสวนาทางปัญญา: การโต้แย้งเพื่อพิสูจน์ความเข้าใจเชิงพิเคราะห์
- การกระทำ
ใน “How Critical Thinking Triggers Transformative Learning” แจ๊ค เมซีโรว์ อธิบายว่าการไตร่ตรองมี 3 ประเภท ได้แก่
- การไตร่ตรองแบบบรรยาย (Descriptive) อธิบายสถานะการณ์ ปฏิกิริยาทั่วไป โดยมีความพยายามเพียงเล็กน้อยที่จะค้นพบสมมุติฐาน/ความเชื่อส่วนบุคคลเกี่ยวกับสถานะการณ์นั้นๆ
- การไตร่ตรองแบบวิเคราะห์ (Analytical) บูรณาการปฏิกิริยาที่มีความหมายต่อสถานะการณ์ โดยมีพื้นฐานบนสมมุติฐาน/ความเชื่อ ความรู้สึก มิติ/มุมมองทางเลือกต่างๆ
- การไตร่ตรองเชิงพิจารณ์ (Critical) ค้นหาเหตุฐานรากของความรู้ สมมุติฐาน/ความเชื่อ แสวงหาความหมายใหม่ และ ข้อเสนอแนะว่าประสบการณ์นั้นๆ สามารถส่งผลกระทบและให้แนวทางต่อการกระทำในอนาคตอย่างไร
มีเพียงการไตร่ตรองเชิงพิจารณ์เท่านั้นที่สามารถก่อเกิดการเรียนรู้แบบแปรสภาพได้
การศึกษาแบบแปรสภาพในวงการการศึกษาคาทอลิก
ว่า “การจัดการศึกษาจำต้องนำทางนักเรียนในการเผชิญกับความเป็นจริง เตรียมพวกเขาให้พร้อมที่จะเข้าสู่โลกด้วยความตระหนักรู้ และความรับผิดชอบ สิ่งนี้จะเกิดขึ้นได้นั้น จำเป็นที่นักเรียนต้องมีความรู้ อย่างไรก็ดี ผลลัพท์แท้จริงที่คาดหวัง มิได้อยู่ที่การมีข้อมูลหรือความรู้ แต่อยู่ที่การแปรสภาพของบุคคล”
การศึกษาคือการแปรสภาพของบุคคล
การแปรสภาพบุคคลต้องเริ่มต้นจากตัวนักการศึกษาคาทอลิกเอง ผู้อบรมและครูจำต้องเจริญ เติบโต
วิวัฒน์ และเปลี่ยนแปลงแปรสภาพตนเองตามคุณค่าพระวรสารเสียก่อน เราจึงจะสามารถสอน จัดการกระบวนการเรียนรู้ จัดกิจกรรม สร้างบรรยากาศการอบรม เพื่อท้าทายนักเรียนให้เจริญ เติบโต วิวัฒน์ และเปลี่ยนแปลงแปรสภาพตนเองตามคุณค่าพระวรสารเช่นเดียวกันกับเรา
การแปรสภาพสังคมอาศัยการศึกษา
มารี ยูเจนี มิลเลเรท์ ผู้ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปาเบเนดิตที่ 16 ได้ทรงสถาปนาเป็นนักบุญในปี 2007 เป็นผู้ก่อตั้งคณะซิสเตอร์อัสสัมชัญ วิสัยทัศน์เชิงสารัตถะของท่านคือ “การแปรสภาพสังคมโดยอาศัยการศึกษา” ซึ่งสำหรับท่านหมายถึง การบริรูปหล่อหลอมเยาวชนในความรู้และความรักต่อพระเยซูเจ้า และการเติบโตในรูปแบบของพระองค์ ท่านเชื่อว่าสังคมสามารถถูกแปรสภาพได้ด้วยการทุ่มเทในการพัฒนาปัจเจกบุคคล โดยมีเป้าหมายที่จะสร้างความยุติธรรมและการปลดปล่อยในสังคม ดังนั้นการศึกษาจะต้องให้ความสำคัญต่อความสุภาพและความรักมากกว่าการฝึกฝนสติปัญญา ท่านตั้งโรงเรียนเพื่อสร้างสิ่งแวดล้อมเพื่อการพัฒนา “ปริบุคคล” ปรัชญาการศึกษาของซิสเตอร์คณะอัสสัมชัญคือ “การศึกษาเป็นการบริรูปหล่อหลอมและการแปรสภาพนักเรียนในหลายระดับและหลายวิธี” ดังนั้น การจัดการศึกษาคือการแปรสภาพบุคคล แล้วการแปรสภาพปัจเจกบุคคลโดยตัวมันเองจะนำมาซึ่งการแปรสภาพสังคม
ชุมชนโรงเรียนคาทอลิกที่ได้รับการแปรสภาพ
หากนักการศึกษาคาทอลิกจัดการศึกษาด้วยฉันทะอย่างแท้จริง ผลลัพธ์ที่ตามมาคือ บรรยากาศโรงเรียนคาทอลิกจะเป็นบรรยากาศแห่งความรักและความเป็นหนึ่ง แน่นอนว่า ในสภาพความเป็นจริงของชีวิตสังคมปัจจุบัน เราอยู่ในโลกแห่งการแข่งขัน การชิงดีชิงเด่น การแพ้คัดออก การขจัดทิ้ง การสร้างสังคมชายขอบ การแบ่งขั้ว การแบ่งชนชั้นแบบแยบยล การมุ่งผลเลิศเฉพาะตน การต่อสู้ การกดขี่ การเอารัดเอาเปรียบ แต่สิ่งเหล่านี้มิใช่หรือ ที่อยู่คนละขั้วกับคุณค่าพระวรสาร เราจัดการศึกษาเพื่อการแปรสภาพสังคมเช่นนี้มิใช่หรือ เราสร้างโรงเรียนของเราเพื่อ ‘สร้าง’ สังคมที่เราคาดหวังมิใช่หรือ ดังนั้น สังคมที่เราสร้างภายในในโรงเรียนจำต้องสะท้อนภาพของสังคมที่เราคาดหวังในโลกด้วย
พระศาสนจักรคาทอลิกสอนครูในโรงเรียนคาทอลิกว่า “การใช้ชีวิตปัจจุบันด้วยความใฝ่ใจรัก หมายถึงการที่เรานักการศึกษาคาทอลิกต้องกลับเป็น ‘ผู้ชำนาญการแห่งการรวมเป็นหนึ่ง’ เป็นประจักษ์พยานและสถาปนิกแห่ง ‘แบบแปลนเพื่อความเป็นหนึ่ง’ ซึ่งเป็นมงกุฎแห่งประวัติศาสตร์มนุษยชาติในแผนการของพระเจ้า”
ประเด็นนี้ ยังมีกล่าวไว้ใน “โรงเรียนคาทอลิกสู่สหัสวรรษที่สาม” ข้อ 11 ว่า “ดังนั้น หัวใจของอัตลักษณ์โรงเรียนในฐานะที่เป็นสถาบันการสอน จึงอยู่ที่ธรรมชาติความเป็นชุมชนของโรงเรียนคาทอลิกนั่นเอง” และใน “การให้การศึกษาอบรมร่วมกันฯ” ข้อ 16 ว่า “ในโรงเรียนคาทอลิก จิตวิถีแห่งการรวมเป็นหนึ่งจะต้องกลายเป็นลมหายใจที่มีชีวิตของชุมชนการศึกษา”
การศึกษาคาทอลิกกับสังคมที่รอการแปรสภาพ
เอกสารเตรียมการประชุมสมัชชาฯ ยังกล่าวด้วยว่า “การศึกษาคาทอลิกควรส่งเสริมการเสาวนา แม้ในขณะที่โรงเรียนและสถาบันการศึกษารู้สึกได้ถึงภาระหนักหน่วงของความยากจนทางจิตวิญญาน การขยายตัวของมุมมองทางคตินิยมที่เป็นภัย และความตกตำ่ในระดับทั่วไปของวัฒนธรรม ในด้านหนึ่ง เราต้องตอบสนองต่อความต้องการจำเป็นของเศรษฐกิจและของสังคม แต่ในอีกด้านหนึ่งเราต้องนำเสนอการบริรูปหล่อหลอมแบบองค์รวม โดยพัฒนาทักษะรอบด้านที่ส่งเสริมตัวมนุษย์: ทั้งจินตนาการ ความสามารถในการรับผิดชอบ ความสามารถในการที่จะรักโลก ความสามารถในการเสริมสร้างความยุติธรรมและเมตตาธรรม ความสามารถในการกำหนดเป้าหมายที่เปลี่ยนแปลงอนาคตได้ ภายในสังคมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วนี้ การจัดการศึกษาแบบองค์รวมย่อมหมายถึงการไตร่ตรองอย่างต่อเนื่องถึงวิธีที่จะฟื้นฟูสังคม ทำให้สังคมมั่งคั่งในเชิงคุณภาพ ในเชิงความเป็นมนุษย์และเมตตาธรรม เป็นเรื่องน่าอันตรายที่จะมองการศึกษาในแง่ที่เป็นเพียงเครื่องมือรับใช้เศรษฐกิจการตลาด และตลาดแรงงานเท่านั้น แต่การศึกษาคาทอลิกจะต้องเป็นการศึกษาบูรณภาพ ที่มองนักเรียนในฐานะที่เป็นบุคคลเชิงบูรณภาพ และช่วยพวกเขาให้พัฒนาทักษะต่างๆ รอบด้าน ซึ่งเสริมสร้างความเป็นมนุษย์ อาทิ ทักษะการไตร่ตรอง ซึ่งทำให้เราเป็นผู้ที่รับผิดชอบต่อการกระทำและการตัดสินใจของตน ทักษะความเป็นพลเมือง ทักษะที่เกี่ยวเนื่องกับภาวะจิตหรือความตระหนักรู้ การคิดเชิงพิจารณ์ และการกระทำที่สร้างสรรค์และแปรสภาพ”
การศึกษาที่เน้นการไตร่ตรองและแปรสภาพกับ constructivism
ในช่วงเปลี่ยนสหัสวรรษ นักการศึกษาเห็นชอบกับการนำเสนอแนวคิดของแอนเดอร์สันและแครทโฮล (2001) ในการเปลี่ยนอันดับทักษะการคิดตามทฤษฎีการเรียนรู้ของบลูม ทักษะการประเมินค่าถูกเลื่อนลำดับลงไป แทนที่โดยทักษะการสังเคราะห์ ซึ่งเปลี่ยนชื่อเป็นทักษะการสร้างสรรค์ (creating) อันมีความหมายว่าเป็นการรวมส่วนย่อยเพื่อสร้างใหม่ทั้งหมด ทักษะการสร้างสรรค์นี้เป็นแนวคิดจากทฤษฎีสร้างความรู้ใหม่โดยผู้เรียนเอง (constructivism) เพอร์กินได้อธิบายว่า constructivism คือการที่ผู้เรียนไม่ได้รับเอาข้อมูล และเก็บข้อมูลความรู้นั้นมาเป็นของตนทันที แต่จะแปลความหมายของข้อมูลความรู้เหล่านั้นโดยประสบการณ์ของตน เสริมขยาย และทดสอบการแปลความหมายของตนด้วย นอกจากนี้ ความสำคัญของ constructivism ยังปรากฎชัดจากงานวิจัยของ TDRI ที่พบว่า constructivism & connectivism เท่านั้นคือทางรอดของการศึกษาไทย
แจ๊ค เมซีโรว์ อธิบายว่า “ทฤษฎีการเรียนรู้ที่แปรสภาพมีลักษณะเป็น constructivism ซึ่งเชื่อว่าวิธีที่ผู้
เรียนแปลความหมายประสบการณ์ และแปลความหมายประสบการณ์ของตนใหม่ เป็นวิธีที่สำคัญในการให้ความหมายใหม่ ซึ่งเป็นการเรียนรู้นั่นเอง” ดังนั้นจึงมีความสัมพันธ์ระหว่าง create และ transform
การเรียนรู้แบบคาทอลิกเป็นการเรียนรู้ที่เน้นการไตร่ตรอง เพราะการใช้ทักษะการคิดขั้นสูงขึ้นเพียงใด ก็ย่อมใช้การไตร่ตรองที่เข้มข้นขึ้นเพียงนั้น กล่าวได้ว่าการเรียนรู้แบบคาทอลิกย่อมส่งเสริมให้นักเรียนมีกระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ทักษะการคิดขั้นสูงให้มาก และเมื่อนักเรียนใช้ทักษะการคิดขั้นสูงสุด: การสร้างสรร จึงเป็นห้วงเวลาที่นักเรียนจะเรียนรู้แบบแปรสภาพ การเรียนรู้แบบคาทอลิกจึงเน้นการไตร่ตรองเพื่อใช้ทักษะการคิดขั้นสูง จนกระทั่งถึงขั้น create-and-transform กล่าวโดยสรุป จากการวิเคราะห์ขอบฟ้าใหม่ของการจัดการศึกษาศตวรรษ 21 เห็นได้ว่าการศึกษาคาทอลิกควรมีลักษณะที่เป็น reflective-transformative learning ดังที่กล่าวข้างต้นนั่นเอง
3. การศึกษาฐานคุณค่า (Values-based Education)
ในการตื่นตัวของสังคมต่อการมาถึงของคลื่นลูกที่สาม คลื่นแห่งสาระสนเทศ ทำให้ผู้คนต่างเห็นดีเห็นงามกับการก้าวเข้าสู่สังคมขอบฟ้าใหม่ เป็นสังคมที่อาศัยความรู้เป็นตัวขับเคลื่อนการพัฒนาทางเศรษฐกิจและสังคม หรือที่เรียกว่า “สังคมฐานความรู้” อย่างไรก็ดี การจัดการศึกษามิอาจตั้งเป้าไปที่สังคมฐานความรู้เป็นจุดหมายปลายทางได้
ในวงการการศึกษาได้เกิดกลุ่มที่เรียกตนเองว่า Values-based Education นำโดย เนล ฮอร์คส์ ซึ่งวิจัยพบว่า การบูรณาการคุณค่าแก่นในหลักสูตรส่งผลกระทบเชิงบวกต่อชีวิตและงานของโรงเรียน และช่วยให้นักเรียนสำรวจและซึมซับคุณค่าต่างๆ มีโรงเรียนทั่วโลกที่ได้รับมาตรฐานแล้ว 150 โรง การแปรสภาพถือเป็นหัวใจของ VbE เป็นผลของการที่ครูและนักเรียนได้รับการกระตุ้นให้ทำการไตร่ตรองกิจกรรมที่ทำในโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง มีการไตร่ตรองตนเอง เพื่อเห็นคุณค่าของตนเอง ของผู้อื่น และของสิ่งแวดล้อม (ดูคลิป)
“โรงเรียนคาทอลิกไม่เป็นเพียงที่ที่นักเรียนจะได้รับโอกาสในการได้รับคุณค่าทางสติปัญญาที่หลากหลายเท่านั้น แต่โรงเรียนยังต้องเป็นที่ที่นักเรียนจะได้รับการนำเสนอคุณค่าอื่นๆ อีกดาษดื่น เพื่อนำไปเจริญชีวิตจริงด้วย นอกจากนั้น โรงเรียนยังต้องเป็นชุมชนที่ถ่ายทอดคุณค่าในความสัมพันธ์ระหว่างบุคคลอีกด้วย” (CS 32)
การศึกษาคาทอลิกเช่นกันไม่อาจลดทอนตัวเองจนกลายเป็นเพียง “การศึกษาฐานความรู้” พระอัครสังฆราชไมเคิ้ล มิลเลอร์ กำชับว่าการศึกษาคาทอลิกจะต้องซึมซาบด้วยโลกทัศน์คริสต์ตลอดท้ังหลักสูตร และจะต้องเป็นประจักษ์พยานต่อพระวรสาร เอกสารพระศาสนจักรสำทับถึงการถ่ายทอดหลักการพระวรสารในโรงเรียน “โรงเรียนคาทอลิก” ข้อ 34 กล่าวว่า “พระคริสตเจ้าคือรากฐานของกิจกรรมทางการศึกษาทั้งปวง…การที่สมาชิกทุกคนในชุมชนโรงเรียนมีวิสัยทัศน์แบบคริสต์นี้ร่วมกันทำให้โรงเรียนเป็นโรงเรียนคาทอลิก หลักการพระวรสารกลับเป็นบรรทัดฐานของการศึกษา เพราะโรงเรียนมีหลักการพระวรสารเป็นแรงบันดาลใจภายใน และเป็นเป้าหมายสุดท้าย” “โรงเรียนคาทอลิกสู่สหัสวรรษที่สาม” ข้อ 4 กล่าวว่า “โรงเรียนคาทอลิกพยายามที่จะเชื่อมโยงวัฒนธรรมมนุษย์กับพระ วรสาร เช่นนี้แล้ว ความรู้ที่นักเรียนเรียนรู้เกี่ยวกับโลก ชีวิต และมนุษย์ จะได้รับการส่องสว่างจากความเชื่อ และนำพวกเขาไปสู่การเจริญชีวิตของผู้เผยแผ่ธรรม” ดังนั้นในโรงเรียนคาทอลิกซึ่งไม่มุ่งการศึกษาฐานความรู้ แม้จะมีหลักสูตรหลายร้อยรหัสวิชา แต่มีเพียง 3 เรื่องที่โรงเรียนคาทอลิกต้องสอน นั่นคือ โลกทัศน์ ชีวิตทัศน์ และมนุษยทัศน์ตามหลักการพระวรสาร สำหรับโรงเรียนคาทอลิก การศึกษาฐานคุณค่าคือการศึกษาฐานคุณค่าพระวรสาร
4. การศึกษามุ่งคุณธรรม (Virtues-oriented Education)
การศึกษาคาทอลิกคือการศึกษามุ่งคุณธรรม
การบริรูปหล่อหลอมนักเรียนต้องไม่หยุดอยู่ที่เพียงการช่วยให้พวกเขายอบรับคุณค่าที่ดีเท่านั้น “มิติทางศาสนาฯ” กล่าวว่า “ผู้อบรมที่แท้ทุกคนย่อมรู้ว่าจำเป็นต้องก้าวต่อไปอีกขั้นหนึ่ง: คุณค่าต้องนำไปสู่การปฏิบัติ” (RD 107) แนวคิดในการปลูกฝังคุณธรรมในการจัดการศึกษาคือ คุณค่าคือความรู้ที่ถูกไตร่ตรอง คุณธรรมคือคุณค่าที่ถูกปฏิบัติ (CS 32)
มารีเค คริสตีนา ในงานวิจัย Mind and Virtue A Cross-Cultural Analysis of Beliefs about Learning (2011) ได้ศึกษาเกี่ยวกับ การเรียนรู้ที่มุ่งปัญญา (mind-orientated Learning) กับการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรม (virtue-orientated Learning) ซึ่งนำเสนอโดย เจ ลี (2005) พบว่านักเรียนตะวันตกมีการเรียนรู้ที่มุ่งปัญญา ส่วนนักเรียนตะวันออกมีการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรม การเรียนรู้ที่มุ่งปัญญามีความเชื่อว่าการเรียนรู้คือการออกแรงพยายามทางความคิด โดยหลักแล้วการเรียนรู้เป็นกระบวนการพัฒนาทักษะการคิด ส่วนในการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรมนั้น การเรียนรู้เป็นการพัฒนาตัวบุคคลแบบเป็นองค์รวม ซึ่งครอบคลุมทั้งด้านคุณธรรมและสังคมด้วย ผู้เรียนมีความเชื่อต่อการเรียนรู้ที่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ ความเชื่อเหล่านี้ถูกบูรณาการอย่างมีความหมาย กลายเป็นกรอบแนวคิดของการเรียนรู้ที่มุ่งปัญญาและการเรียนรู้ที่มุ่งคุณธรรม
พระอัครสังฆราชฌาปุต แห่งสังฆมณฑลฟิลลาเดลเฟียเมื่อปลายปี 2014 ได้ออกสาร “Equipping Saints: A Pastoral Letter on Catholic Education and Faith Formation” เน้นย้ำว่าการศึกษาคาทอลิกคือการติดอาวุธให้กับนักบุญสำหรับชีวิตบนโลกนี้และโลกหน้า “ครูในโรงเรียนคาทอลิกจะต้องทุ่มเทให้กับการบริรูปหล่อหลอมคุณธรรมคริสต์…การศึกษาคาทอลิกไม่ใช่เรื่องของ ‘ประโยชน์ทางสังคม’ ไม่ใช่เรื่องของ ‘คุณค่า’ ที่ดี ภาษาคุณค่าของสังคมศาสตร์เบาบางเกินกว่าที่จะทำให้วิญญานมนุษย์อิ่มเอิบได้ และปวกเปียกเกินไปสำหรับบุคคลิกที่พระเจ้าผู้กล้าทรงประสงค์ให้เราเป็น การศึกษาคาทอลิกคือเรื่องการสร้างนักบุญ เรื่องของการเติบใหญ่ของเมล็ดพันธ์แห่งคุณธรรมและสัจธรรม อะไรที่ด้อยกว่านี้เท่ากับไม่ซื่อต่อศักดิ์ศรีของนักเรียนของเรา”
“พันธกิจเฉพาะของโรงเรียนคาทอลิกคือพันธกิจอันสำคัญยิ่งยวดของการถ่ายทอดวัฒนธรรมในแสงสว่างแห่งความเชื่อ จนบรรลุถึงคุณธรรมคริสต์ อันเป็นการบูรณาการวัฒนธรรม ความเชื่อ และชีวิต กระบวนการถ่ายทอดนี้ต้องทำอย่างเป็นระบบ” (CS 49)
การศึกษามุ่งคุณธรรมของนักบุญโทมัส
ดังที่กล่าวแต่ต้นว่า นักบุญโทมัสมองจุดมุ่งหมายของการศึกษาคาทอลิกเป็นการบริรูปหล่อหลอมมนุษย์ใหม่ จนกระทั่งเขาเปี่ยมด้วยคุณธรรม เราจะพยายามทำความเข้าใจเกี่ยวกับคุณธรรมในความคิดของนักบุญโทมัส เพื่อช่วยให้เราจัดการศึกษามุ่งคุณธรรมอย่างมีประสิทธิผล
คริสโตเฟอร์ บราวน์ สรุปว่างานเขียนเกี่ยวกับทฤษฎีจริยศาสตร์ของนักบุญโทมัสมีคุณธรรมเป็นศูนย์กลาง (virtue-centered) โดยอรรถาธิบายเกี่ยวเนื่องกับความสุขและสมรรถนะของอำเภอใจ (will) ที่แสวงหาชีวิตที่มีศีลธรรม
เป้าหมายปลายทางชีวิตมนุษย์: ความสุข
นักบุญโทมัสเห็นเป็นเรื่องประจักษ์ชัดว่า ที่จริงแล้ว มนุษย์มีจุดหมายสุดท้ายเพียงประการเดียว เหตุเพราะว่า จุดหมายสุดท้ายย่อมเป็นอะไรบางอย่างที่มากกว่าแค่สิ่งที่เราแสวงหาในตัวมันเอง มันเป็นสิ่งที่ในตัวมันเองต้องสามารถเติมเต็มความปรารถนาของมนุษย์ได้อย่างครบถ้วน จุดหมายสุดท้ายเพียงประการเดียวนี้คือ ความสุข
เมื่อพูดถึงความสุขที่มนุษย์มีในชีวิตนี้ ซึ่งนักบุญโทมัสเรียกว่า “ความสุขที่ไม่สมบูรณ์ของมนุษย์” มันย่อมต่างจากความสุขที่พระเจ้า เทวทูต และบรรดานักบุญมี ซึ่งนักบุญโทมัสเรียกว่า “บรมสุขทัศน์”. (Beatific Vision) ความสุขเช่นนี้เป็นความสุขที่สมบูรณ์ ดังนั้นความสุขของมนุษย์ในสวรรค์เท่านั้นจึงถือเป็นความสุขที่สมบูรณ์
การกระทำที่เปี่ยมคุณธรรมเป็นหนทางไปสู่ความสุข
เช่นเดียวกับพระเยซูเจ้าผู้ตรัสสอนว่า “ท่านจงเป็นคนดีอย่างสมบูรณ์ ดังที่พระบิดาเจ้าสวรรค์ของท่าน ทรงความดีอย่างสมบูรณ์เถิด” (มธ 5:48) นักบุญโทมัสเห็นว่าความสุขของมนุษย์เกิดขึ้นได้อย่างสมบูรณ์ ไม่ใช่ด้วยการกระทำที่ดี (good human actions) แต่ด้วยการกระทำที่เปี่ยมคุณธรรม (virtuous human actions) การกระทำที่ดีเป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่ความสุขของผู้กระทำ การกระทำที่เปี่ยมคุณธรรมทำให้ความสุขของผู้กระทำสมบูรณ์
คุณธรรมชนิดต่างๆ
นักบุญโทมัสจำแนกคุณธรรมออกเป็น คุณธรรมเชิงเทววิทยา (theological virtue) คุณธรรมเชิงสติปัญญา (intellectual virtue) คุณธรรมเชิงศีลธรรม (moral virtue) และคุณธรรมหลัก (cardinal virtue)
คุณธรรมเชิงเทววิทยา ได้แก่ ความเชื่อ ความหวัง และความรัก
คุณธรรมเชิงสติปัญญาแบบทฤษฎีได้แก่ความเข้าใจ วิทยาศาสตร์ ปรีชาญาณ คุณธรรมเชิงสติปัญญาแบบปฏิบัติได้แก่ศิลปะ ความรอบคอบ คุณธรรมเหล่านี้ทำให้สติปัญญาครบครัน นำไปสู่การทำสิ่งต่างๆอย่างเหมาะสม ทำให้ผู้ทำมีประสิทธิผล
คุณธรรมเชิงศีลธรรมเป็นคุณธรรมที่ทำให้อำเภอใจครบครัน คุณธรรมชนิดนี้นำไปสู่การใช้อุปนิสัยอย่างถูกต้องโดยอัตโนมัติ ทำให้ผู้ทำเป็นคนดี
ส่วนคุณธรรมหลัก ได้แก่ ความกล้าหาญ ความพอควร ความยุติธรรม และความรอบคอบ คุณธรรมเหล่านี้ส่งผลต่อกันจนไม่อาจมีคุณธรรมหลักประการใดประการหนึ่งโดยปราศจากคุณธรรมหลักอื่นๆ ทั้งหมด หนังสือปรีชาญาณบทที่ 8 กล่าวถึงคุณธรรมหลักว่า “ถ้าผู้ใดรักความชอบธรรมก็รู้ว่าคุณธรรมต่างๆ เป็นผลของปรีชาญาณ ปรีชาญาณสอนความรู้ประมาณและความรอบคอบ สอนความยุติธรรมและความกล้าหาญ”
คุณค่าพระวรสาร 30 ประการที่นำเสนอครอบคลุมคุณธรรมเชิงเทววิทยากับคุณธรรมหลักทั้งหมด และครอบคลุมคุณธรรมเชิงสติปัญญากับคุณธรรมเชิงศีลธรรมบางประการ คุณธรรมเชิงเทววิทยาได้แก่ข้อ 1 ความเชื่อ, ข้อ 11 ความรัก, และข้อ 21 ความหวัง คุณธรรมหลักได้แก่ข้อ 4 ความกล้าหาญ, ความรอบคอบ (วิจารณญาณ), ข้อ 10 ความพอควร (ความพอเพียง), และข้อ 16 ความยุติธรรม
การศึกษา Head Heart Hands
ในหนังสืออัตชีวประวัติของรูเมอร์ ก๊อดเด็น “บ้านสี่ห้อง” เธอเขียนว่า “มีภาษิตอินเดียที่สอนว่า คนทุกคนคือบ้านที่มีสี่ห้อง กาย สติปัญญา จิตใจ จิตวิญญาณ พวกเราส่วนใหญ่มักจะใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในห้องๆ เดียว แต่ทว่า หากเราไม่เข้าไปในห้องทุกห้อง ทุกวัน เราก็เป็นคนไม่ครบคน ”
เมื่อทรงถูกถาม อะไรคือบัญญัติเอก? พระเยซูตรัสตอบว่า “ท่านจะต้องรักองค์พระผู้เป็นเจ้า พระเจ้าของท่านสุดวิญญาณ สุดจิตใจ สุดสติปัญญาของท่าน” (มธ 22: 37)
คำประกาศของสภาสังคายนาฯ เรื่อง “การศึกษาแบบคริสต์” ข้อ 1 กล่าวว่า “การศึกษาที่แท้จริงมีเป้าหมายอยู่ที่การบริรูปหล่อหลอมตัวบุคคลมนุษย์เพื่อบรรลุถึงจุดหมายปลายทางสุดท้ายของตน อีกทั้งเพื่อความดีของสังคม”
แล้วจุดหมายปลายทางสุดท้ายของมนุษย์คืออะไร? คำสอนบัลติมอร์ตอบคำถามนี้ว่า “จุดหมายปลายทางของมนุษย์คือเป้าหมายที่มนุษย์ถูกสร้างขึ้น กล่าวคือ เพื่อรู้จัก รัก และรับใช้พระเจ้า แล้วจะได้เป็นสุขกับพระองค์ตลอดนิรันดรในสวรรค์”
ขอสรุปด้วยคำสอนของนักบุญโทมัส “มีสามสิ่งที่จำเป็นต่อความรอดพ้นของวิญญาณ: รู้ว่าตนควรเชื่ออะไร (Head) รู้ว่าตนควรปรารถนาอะไร (Heart) รู้ว่าตนควรทำอะไร (Hands)” การศึกษาคาทอลิกจึงควรเป็นการศึกษา head-heart-hands ที่นำพานักเรียนไปถึง da-mini-animas “ขอเพียงจิตวิญญาณ” ของนักบุญยอห์น บอสโก ผู้ซึ่งสมเด็จพระสันตะปาปา ปีโอที่ 11 ในปี 1934 ทรงสถาปนาขึ้นเป็น “บิดาและอาจารย์ของเยาวชน” บิดาและอาจารย์ของนักเรียนทุกคนในโรงเรียนคาทอลิก